วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Agenda 21


Agenda 21
แผนปฏิบัติการ 21 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แผนปฏิบัติการ 21 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Agenda 21) เป็นเอกสารที่สำคัญฉบับหนึ่งของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการรับรองจากการประชุม Earth Summit ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี ค.. 1992 เพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆ ในโลก นำไปปรับใช้ตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง เพื่อที่จะบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะทำให้คนทั้งรุ่นปัจจุบันและอนาคตมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอเพียงที่จะตอบสนองความต้องการต่างๆในการดำรงชีวิตเพื่อความกินดีอยู่ดี
Agenda 21 กล่าวไว้ว่า ประชากร การบริโภค และเทคโนโลยี เป็นพลังผลักดันหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและมีความจำ เป็นต้องดำเนินการอะไรบ้างเพื่อที่จะลดรูปแบบของการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยและ ไร้ประสิทธิภาพในบางส่วนของโลก ในขณะที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นในส่วนอื่น ๆ ของโลกAgenda 21 ยังเสนอนโยบายและแผนงานในการที่จะบรรลุถึงความสมดุลอย่างยั่งยืนระหว่างการบริโภค ประชากร และสมรรถนะของโลกในการค้ำจุนสิ่งมีชีวิต (Earth's life supporting capacity) รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคต่างๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ในขณะเดียวกันกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างระมัดระวัง
Agenda 21 เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อต่อสู้กับความเสื่อมโทรมของดิน อากาศและน้ำ และเสนอแนวทางเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้และความหลากหลายชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต การต่อสู้กับความยากจน แก้ไขการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย การวางแผนและการจัดการกับการศึกษา สุขภาพอนามัย การแก้ปัญหาของเมืองใหญ่ๆ และของเกษตรกร กล่าวถึงบทบาทของทุกๆ กลุ่มไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นักธุรกิจ สหภาพแรงงาน นักวิทยาศาสตร์ อาจารย์ คนพื้นเมือง สตรี เด็กและเยาวชน Agenda 21 กล่าวย้ำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหนทางที่จะเอาชนะทั้งในเรื่องของความยากจนและการทำลายสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน เราประเมินความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในรูปของตัวเงิน ระบบบัญชีซึ่งวัดค่าความมั่งคั่งของประเทศจำเป็นต้องนำเอาคุณค่าเต็มจำนวน(full value) ของทรัพยากรธรรมชาติ และค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนเต็มจำนวน (full cost) จากการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในการพัฒนามาคิดคำนวณไว้ด้วย โดยหลักการผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษ (polluters) ควรจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายนั้น ควรมีการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการต่างๆ รัฐบาลควรลดหรือยกเลิกเงินอุดหนุนต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
หัวข้อหลักของ Agenda 21 ข้อหนึ่งก็คือความจำเป็นที่จะขจัดความยากจนโดยให้ประชาชนที่ยากไร้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น ในการให้ความเห็นชอบต่อ Agenda 21 ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายต่างยอมรับถึงบทบาทในการแก้ไขสิ่งแวดล้อมมากกว่าประเทศที่ยากจนซึ่งได้ก่อให้เกิดมลพิษ (pollution) น้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวยยังให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศอื่นๆ ดำเนินการพัฒนาในลักษณะที่เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมน้อยลง นอกเหนือจากด้านการเงินแล้ว ประเทศที่ยากจนต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการเสริมสร้างความชำนาญการหรือสมรรถนะ (capacity) ในการที่จะวางแผนและดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและทักษะด้วย ระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยังยากจนอยู่
Agenda 21 ยังเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ดำเนินกลยุทธ์การพัฒนาประเทศในลักษณะที่ยั่งยืนโดยการเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แม้ว่ารัฐบาลจะมีความรับผิดชอบหลักในการชี้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่จำเป็นต้องดำเนินงานโดยความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ รัฐบาลมลรัฐ องค์กรส่วนจังหวัดและส่วนปกครองท้องถิ่น องค์กรเอกชนตลอดจนกลุ่มประชาชนในระดับต่างๆ
Agenda 21 ยังกล่าวด้วยว่าความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันในระดับโลก (global partnership) เท่านั้นที่ทำให้มั่นใจว่าทุกๆ ประเทศจะมีอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยร่วมกันมากยิ่งขึ้น
Agenda 21 ได้คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 4 ส่วน คือ มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ (Social and Economic Dimensions) การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร (Conservation and Management of Resources) การส่งเสริมบทบาทของกลุ่มต่างๆที่สำคัญ (Strengthening the Role of Major Groups) และวิธีการในการดำเนินงาน (Means of Implementation) โดยสามารถประมวลแนวทางที่สำคัญได้ดังต่อไปนี้
1.  การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องผสมผสานและควบคู่ไปกับการพัฒนาและความห่วงใยในสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมไม่อาจจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะพิจารณาอีกต่อไป การที่จะเพิ่มรายได้และจัดหางานให้ประชาชนนั้น ควรจะกระทำไปพร้อมๆ กับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
2.  การใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ การปล่อยของเสียและมลพิษต่างๆเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมไม่ยั่งยืน ซึ่งไม่อาจปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไปได้ เพราะเป็นการทำลายสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลก
3.  จะต้องมีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเนื่องจาก(1) มีผลกระทบอย่างเฉียบพลันต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (2) เกิดผลกระทบต่อประชากรรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต
4.  มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในอันที่จะดำรงชีวิตความเป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้ดื่มน้ำที่สะอาด หายใจในอากาศที่บริสุทธิ์ และสามารถที่จะควบคุมการใช้ทรัพยากรของตนเองได้
Agenda 21 ส่วนที่หนึ่ง : มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ (Section 1 : Social and Economic Dimensions)
·       ความร่วมมือระหว่างประเทศ
·       การต่อสู้กับความยากจน
·       การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการบริโภค
·       ประชากรและความยั่งยืน
·       การคุ้มครองและเสริมสุขภาพมนุษย์
·       การตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน
·       การตัดสินใจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ส่วนที่สอง : การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร (Section 2 : Conservation and Management of Resources)
·       การคุ้มครองชั้นบรรยากาศของโลก
·       การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน
·       การแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า
·       การแก้ไขปัญหาการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและความแห้งแล้ง
·       การพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภูเขา
·       การเกษตรอย่างยั่งยืนและการพัฒนาชนบท
·       การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
·       การจัดการเทคโนโลยีชีวภาพ
·       การคุ้มครองและการจัดการมหาสมุทร
·       การคุ้มครองและการจัดการแหล่งน้ำจืด
·       การใช้สารเคมีเป็นพิษอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
·       การจัดการของเสียที่เป็นอันตราย
·       การจัดการของเสียที่เป็นของแข็งและน้ำโสโครก
·       การจัดการกากกัมมันตรังสี
ส่วนที่สาม : การส่งเสริมบทบาทของกลุ่มที่สำคัญๆ (Section 3 : Strengthening the Role of Major Groups)
·       อารัมภบทในการส่งเสริมบทบาทของกลุ่มที่สำคัญๆ
·       สตรีในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
·       เด็กและเยาวชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
·       การส่งเสริมบทบาทของคนพื้นเมือง
·       ความร่วมมือกับองค์กรเอกชน (NGOs)
·       รัฐบาลท้องถิ่น
·       คนงานและสหภาพแรงงาน
·       ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
·       นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี
·       การส่งเสริมบทบาทของเกษตรกร
ส่วนที่สี่ : วิธีการในการดำเนินงาน (Section 4 : Means of Implementation)
·       การเงินสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท การถ่ายทอดเทคโนโลยี
·       วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
·       การศึกษา ฝึกอบรม และการตระหนักของสาธารณชน
·       การสร้างสมรรถนะเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
·       การจัดองค์กรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
·       กฎหมายระหว่างประเทศ
·       ข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจ 

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 เมษายน 2556 เวลา 02:12

    We are a group of volunteers and starting a new scheme in our community.
    Your web site offered us with valuable information to work on.

    You've done an impressive job and our whole community will be thankful to you.

    Also visit my website: golf cart batteries in ct

    ตอบลบ
  2. It's an amazing article for all the internet users; they will take benefit from it I am sure.

    Also visit my weblog golf galaxy locations ohio

    ตอบลบ