วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การศึกษาของไทยในกรอบอาเซียน







กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกรอบและแนวทางในการปฏิบัติด้านการศึกษาของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 ที่จะถึงนี้ โดยกำหนดกรอบอาเซียนแนวทางการศึกษาไทยดังนี้
1.สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินงานภายใต้กรอบรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน กรอบประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เสริมสร้างความตะหนักเกี่ยวกับอาเซียน และการจัดตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษา

2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโครงการ Education Hub School และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ Spirit of ASEAN (Sister/Partner  School และ Buffer School) สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการในปี 2554 คือการพัฒนาหลักสูตรและสื่อเกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน

3.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านการอุดมศึกษา และการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษาอาเซียน

4.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรนานาชาติ จัดการเรียนการสอนบริการสังคมร่วมกับนักศึกษาสิงคโปร์ โครงการแลกเปลี่ยนกับ Institute Of Technical Education Collage Eastสิงคโปร์ โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคลาว แลกเปลี่ยนนักศึกษาทวิภาคีระดับ ปวส.กับบรูไนฯ โรงเรียนพระราชทานฯ วิทยาลัยกำปงเฌอเตียลกัมพูชา ร่วมมือกับ SEAMEO SEAMOLEC ประเทศอินโดนีเซีย จัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

5.สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา จัดโครงการสัมมนาการวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย บรรยายทางวิชาการเรื่องความตะหนักเรื่องการก้าวสู่อาเซียน บรรยายเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนและคนด้อยโอกาสให้กับผู้แทนมาเลเซีย โครงการพัฒนานโยบายการศึกษาสู่อาเซียน:กรณีศึกษาไทย-ลาว-เวียดนาม โครงการความร่วมมือไทย-ลาว โครงการความร่วมมือไทย-เวียดนาม

6.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้ประเทศเพื่อนบ้าน อบรมเทคนิคการจัดนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูล ส่งเสริมความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพชุมชนในศูนย์วิทยาศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน

7.สำนักบริหารงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอาเซียนแก่บุคลากร ใน สช.และโรงเรียนเอกชน สนับสนุนโรงเรียนเข้าแข่งขันกีฬาประถมศึกษาอาเซียนครั้งที่ 3 ที่ประเทศอินโดนีเซีย โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนมัธยมศึกษาปี 2552 กับสิงคโปร์ ร่วมสัมมนาวิชาการและนิทรรศการ การศึกษาไทยที่ประเทศเวียดนาม

8.สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา คุรุสภาได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์กรสมาชิกสภาครูอาเซียน โดยร่วมกับองค์กรครูในกลุ่มประเทศอาเซียน 5ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 23 องค์กรจาก 9 ประเทศ

9.เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาภายในอาเซียน มีการพัฒนาหลักสูตรและการประเมินหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ เช่น เคมี คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษาเพื่อกำหนดเป็นนโยบายดังนี้
1.การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อม ของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558

2.การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเช่นความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมและการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน

3.การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์ ในอาเซียน รวมทั้งให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆและการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมทางอาชีพทั้งในขั้นต้นและขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน

4.การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีทางการศึกษาในอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษาควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน

5.การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้องค์กรหลักเตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยให้พิจารณาถึงระบบการศึกษาในอาเซียนและ นโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริงในอาเซียนต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การศึกษาทางเลือก "บนลู่ทางอนาคต"เยาวชนไทย

            การศึกษาทางเลือก "บนลู่ทางอนาคต"เยาวชนไทย

            ภาพรายงานของสื่อมวลชน ที่รัฐบาลใช้แสดงความสำเร็จถึงนโยบาย การปฏิรูปการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ กำลังดำเนินไปอย่างตื่นเต้น มีตัวเลข เป็นรูปธรรม ในขณะที่หากเหลียวมองคุณภาพการศึกษาผ่านตัวเด็กๆ สู่อนาคตและพินิจความคาดหวังของสังคม ยังริบหรี่ไร้ทิศทาง เพราะกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ถูกผลักดันสู่การปฏิบัติผ่านกลไกรัฐ ซึ่งก็คือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยังคับแคบทั้งในเชิงเนื้อหา คุณค่าและวิธีการ แม้ว่าหลายหน่วยงานมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปก็ตาม
            สังคมไทยเฝ้ารอรับฟัง ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ยุทธวิธีที่เป็นรูปธรรม รูปแบบการปฏิบัติที่สอดคล้องทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรี่ยวแรง แต่การรอชื่นชมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งเรื่องวิธีการคิด วิธีการเรียนการสอน จากสถาบัน ยังห่างต่อแนวคิดการปฏิรูป และชุมชนเองก็ตระหนักที่จะเข้าไปมีบทบาทกับกระบวนการเรียนรู้ของลูกหลานนั้นยังน้อย จึงแต่รอการกลับมาอย่างอบอุ่นเห็นค่าของบุตรหลาน แต่ยิ่งรอความหวังยิ่งลางเลือน ความสำเร็จที่ฉายชัดผ่านสื่อมวลชนที่รัฐบาลปัจจุบันกล่าวถึง จึงเป็นเพียงการเสนอข่าวปรับรูปแบบการสอบเข้า Entrance การรับเด็ก การจัดโซน การแจกเทคโนโลยี เท่านั้น
            แต่สิ่งที่ไม่เคยกล่าวถึง สำคัญและต้องลงลึกมองให้เห็น นั่นคือองค์รวมของกระบวนการสร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาของเยาวชนไทย จากรุ่นหนึ่งสู่หนึ่ง ผ่านเรื่องราว กิจกรรมทั้งในชีวิตจริงและจำลองขึ้น ผ่านประวัติศาสตร์ของการดิ้นรนต่อสู้ สังสันทน์ทางวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อแต่ละศาสนา แต่ละชุมชน ซึ่งนี่ก็คือ"การศึกษาเพื่อชีวิต" ทางเลือกของการเรียนรู้ที่สำคัญสัมพันธ์ทั้งตนเอง ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

            สาทร สมพงษ์ ครูธรรมชาติแห่งโรงเรียนใต้ร่มไม้ ริมเทือกเขาบรรทัด อ.ป่าบอน พัทลุง ซึ่งบุกเบิกและนำพาเด็กๆ ในชุมชนต่างๆ โลดแล่นอยู่กับเรื่องราวของผื่นไพร กับนิทานสายน้ำ "สาทร สมพงษ์ " ในค่ำคืนหนึ่ง ได้เผยมุมมอง แนวคิดถึงที่มา คุณค่าและความหมายของการศึกษาทางเลือก ผ่านทีมงานไทยเอ็นจีโอ ว่า "เดี๋ยวนี้ เราเข้าใจว่า "การศึกษาต้องไปโรงเรียน" ดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ไปโรงเรียน หรือเรียนแค่ป.4 ก็เลยรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีการศึกษา ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ผมอยากเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษา ที่ชาวบ้านหรือชุมชน หรือครอบครัว ก็ได้ ที่ไม่ใช่สถาบันรัฐ สามารถจัดการศึกษาเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ก็เลยคิดว่า ปัจจุบันนี้มีชาวบ้านจัดกระบวนการศึกษากันเองเยอะ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศในรูปของกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย งานวิจัยเรื่องการศึกษาทางเลือกของผมจึงแบ่งออกเป็น setting ดังนี้

1.กลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น ป่า ทะเล กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้หญิง เป็นต้น เหล่านี้คือกลุ่มเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมต่างก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่พวกเขา ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตขึ้นมา ดั่งนั้น งานของผมที่ศึกษาและวิจัยการศึกษาทางเลือกภาคใต้ ซึ่งผมได้ เข้าไปศึกษาภูมิหลังขององค์กรต่างๆ ว่ามีกระบวนการเรียนรู้อย่างไร มีวัตถุประสงค์อะไร เนื้อหาแบบไหน กระบวนการหรือรูปแบบของเขาทำอย่างไร ผลลัพธ์ออกมาอย่างไรบ้าง เหล่านี้คือเป้าหมายการลงไปศึกษากระบวนการเรียนรู้ทางเลือกภาคใต้ ครับ
ส่วนความแตกต่างที่ผมค้นพบเปรียบเทียบกับการศึกษาในระบบ ได้ชัดๆ คือ การศึกษาทางเลือกนั้นเป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทัศนคติ พัฒนการคิด การเชื่อ พัฒนาจิตใจ จิตวิญญาณเป็นหลัก แต่การศึกษาสมัยใหม่ เขาจัดอย่างนี้ แบบนี้ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ก็ศึกษาเพียงเพื่ออ่านออกเขียนได้ เพื่อช่วยในการประกอบอาชีพ คือเป้าหมายมันจำเพาะมาก ซึ่งมันหนักแต่เรื่องการเรียนหนังสือ แต่เรื่องการเรียนชีวิต การจัดการชีวิต จัดการสังคม ทรัพยากร นั้นไม่มี อย่าง พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 18 ที่พูดถึงการจัดการศึกษาโดยชุมชน ชาวบ้าน หรือโดยครอบครัว เหล่านี้ ล้วนคิดในกรอบเพื่อจัดการศึกษาในขั้นพื้นฐาน 12 ปี ยังไม่ใช่การพูดถึงการจัดการศึกษาในรูปกิจกรรม ที่ชุมชนจัด ซึ่งกระบวนเหล่านี้คือการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเรากำลังรณรงค์เคลื่อนไหวในเรื่องนี้อยู่ เพื่อให้ พ.ร.บ.ระบุไป ไม่ใช่แค่เรื่องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ใครบ้างและอย่างไร แล้วรัฐคอยให้ทรัพยากรสนับสนุน ซึ่งมาตรา 18 ควรจะครอบคลุมตรงนี้ด้วยนะครับ

2.กลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พ่อครูแม่ครู จัดอบรมให้แก่เด็ก ทั้งเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งหมอกลางบ้าน หมอพื้นบ้าน เรื่องแพทย์สมุนไพร เหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน หรือผู้สนใจเช่นกัน ซึ่งรูปแบบเหล่านี้ก็มีทั่วประเทศ

3. กระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อ คนทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนทำ web ต่างก็ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้กับคนที่เปิดเว็บเข้าไป หรือคนที่จัดรายการวิทยุดีๆ รายการโทรทัศน์ดีๆ เช่น รายการทุ่งแสงตะวัน เหล่านี้ ล้วนเป็นกระบวนการศึกษาทางเลือกทั้งสิ้นครับ

4.การศึกษาในรุปแบบกลุ่มทางศาสนา อย่างเช่น สวนโมกข์ ที่จัดอบรมเรื่องอาณาปณสติ เรื่องศาสนา หรืออย่างชุมชนอโศกที่จัดการศึกษาเรื่องความเป็นมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นการศึกษาทางเลือกเช่นกัน เพราะทำให้เกิดการเรียนรู้จักการดำเนินชีวิต

5.สถาบันนอกระบบรัฐ
เช่น สถาบันสลาตันของอาจารย์วิชัย สำนักแม่ชีเสถียรธรรม มหาลัยเที่ยงคืน วิทยาลัยวันศุกร์ ก็ถือว่าเป็นสถาบันนอกระบบรัฐ ทั้งนั้น เขามีการจัดกระบวนเรียนรู้ให้กับประชาชน ซึ่งมีผลก่อให้เกิดการยกระดับชีวิต จิตใจ เป็นอีกหนึ่งการศึกษาทางเลือก

6.สถาบันที่อิงระบบรัฐ อย่างโรงเรียนต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้เด็กๆ นอกหลักสูตร เช่น พาเด็กๆ ไปเรียนรู้วิถีชาวบ้าน เรียนรู้กับพ่อครูแม่ครู ก็นับได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกเช่นกัน

7.Home school หรือการจัดการศึกษาเองในครอบครัว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก สำหรับเด็กที่ชอบสนุกกับการเรียนอยู่กับบ้าน มากกว่าโรงเรียน ซึ่งก็มีหลายท่านที่ค้นพบแนวทางนี้ จนมาเปิด home school รุ่นแรกๆ อย่างคุณหมอโชติช่วง ซึ่งท่านเคยผ่าน home school แล้วก็ไปเรียนต่อระบบข้างนอกจนจบ แล้วไปต่ออเมริกา ซึ่งก็สามารถเรียนได้ปกติ แต่การเรียนแบบนี้บางเรื่องก็อาจจะได้น้อยกว่า แต่บางเรื่อง ก็เรียนรู้ได้ลึกซึ้งกว่านะครับ

            สำหรับปัญหาการจัดกระบวนการการศึกษาทางเลือกนั้น บางส่วนก็เชื่อว่าขาดงบประมาณอยู่มาก สำหรับการทำการศึกษาทางเลือก แต่บางส่วนก็แจ้งว่า งบประมาณไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาก็จัดของเขาไปได้ ซึ่งปัญหาก็แตกต่างกันออกไป อย่างกรณีเกาะยาว พังงา นะครับ คุณครูในโรงเรียนก็มาจากลูกหลานชาวบ้าน แต่กลับไม่ยอมรับที่จะให้องค์กรชาวบ้านเข้าไปร่วมจัดการศึกษาให้กับเด็ก ไม่เห็นความสำคัญที่จะให้เด็กๆ ไปดูพ่อแม่ลงอวน ลงไซ ลงทะเลอย่างไร เพราะเขาไม่เชื่อมั่นว่า นี่คือการเรียนรู้ นี่คือการศึกษา เพราะการศึกษา คือการมานั่งเรียนเลข เรียนภาษา เรียนวิทยาศาสตร์ นั่นคือการศึกษาของเขา ไม่ใช่เรื่องการไปเรียนเรื่องทะเล การจับปลา การดูแลป่า 

            เพราะบทบาทการศึกษาทางเลือกในอนาคต จำเป็นและสำคัญมาก เนื่องจากคนเดี๋ยวนี้พูดได้เลยว่า ป่วยไข้ เพราะการศึกษามันตอบสนองไม่ได้ ทำให้ป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ ทางสมอง มีแต่ความกังวล ความเครียด ความทุกข์ การหย่าร้าง หรือผิดหวังมากๆ ก็เครียด เด็กหลายคนขลุกอยู่กับเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อมองการศึกษา ทำให้เห็นว่า ไม่รองรับการพัฒนาในทุกๆ ด้านของเด็ก มิติของชีวิตบางมิติ ไม่ได้รับการพัฒนา สมองบางส่วนที่มีหน้าที่ในการเจิรญเติบโต พัฒนาตามวัย แต่ไม่ได้รับการเรียนรู้หรือใช้มัน ทำให้คนในปัจจุบันนี้กระด้างมากขึ้น ในบางเรื่องบางอย่าง ขาดความละเอียดอ่อนในชีวิต ขาดความกลมกล่อม สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ในครอบครัวเองก็คุยในภาษาที่ต่างกันมาก สื่อความหมายกันยากขึ้นเรื่อยๆ ทะเลาะกันในปัญหาที่ง่ายขึ้น สังคมมันสับสนอลหม่านไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มาจาก พื้นฐานการศึกษาที่ไม่เอื้อให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ เป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดปัญหาเชื่อมโยงไปอีกหลายๆ มิติครับ"นายสมพงษ์อธิบาย

 แหล่งข้อมูลจาก  http://www.thaingo.org/story3/news_altEducation_210446.htm

แนวโน้มการศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า

แนวโน้มการศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า

            การปฏิรูปการศึกษาไทยได้ดำเนินมากว่า 8 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างพยายามพัฒนาและดำเนินการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างมาก ซึ่งการจะพัฒนาการศึกษาไทยจะประสบความสำเร็จได้ในสภาพยุคที่เปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็วนี้ จำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการในเชิงรุกร่วมด้วยนั่นหมายความถึงการให้ความ สำคัญกับการคาดการณ์แนวโน้มอนาคตทางด้านการศึกษา เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดการศึกษาไทยได้สอดคล้องสภาพการเปลี่ยนแปลง หลีกเลี่ยงอุปสรรคปัญหา และใช้ประโยชน์สูงสุดจากแนวโน้มอนาคตที่จะมาถึง
           เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้เป็นที่ปรึกษาในโครงการวิจัยเรื่อง ผลกระทบโลกาภิวัตน์ต่อการจัดการศึกษาไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและแผนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยผลวิจัยได้พบแนวโน้มสำคัญของการศึกษาไทยใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้กระทบต่อสังคมและประชากร เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง ซึ่งมีทั้งที่เป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก และด้านลบ โดยบทความนี้ผมนำมาเสนอบางประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. แนวโน้มด้านบวก

1.1 หลักสูตรใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก จากการเปลี่ยนแปลงและการ แข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้คนในสังคมต้องการเพิ่มความรู้ความสามารถให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงหันมาสนใจศึกษาต่อในหลักสูตรที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคมสถาบันการศึกษาจึงมุ่งพัฒนาหลักสูตร ใหม่ ๆ อาทิ หลักสูตรที่บูรณาการระหว่างสองศาสตร์ขึ้นไป เช่น ระดับอาชีวศึกษาหลักสูตรเดียวจะมีหลายสาขาวิชา เรียนช่างยนต์จะผนวกการตลาดและการบัญชีเข้าไปด้วย เป็นต้น หลักสูตรที่ให้ปริญญาบัตร 2 ใบ และมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา

1.2 หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการการศึกษาที่เป็นภาษาสากลมีมากขึ้น ที่สำคัญการเปิดเสรีทางการศึกษา ยังเป็นโอกาสให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทย และเปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ ยิ่งมีส่วนกระตุ้นให้หลักสูตรการศึกษานานาชาติมีแนวโน้มได้รับความนิยมมาก ขึ้น แต่เนื่องจากหลักสูตรนานาชาติมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การเรียนในหลักสูตรนี้ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เรียนที่มีฐานะดี

1.3 การจัดการศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้น สภาพโลกาภิวัตน์ ที่มีการเชื่อมโยงในทุกด้านร่วมกันทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ กฎกติกา การดำเนินการด้านต่าง ๆ ทั้งการค้า การลงทุน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เชื่อมต่อถึงกัน ประกอบการเปิดเสรีทางการศึกษา ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลหลักสูตรการเรียนการสอน บุคลากรด้านการสอน หลักสูตร จากสถาบันการศึกษาต่างประเทศเข้าสู่ไทย อันมีผลทำให้เกิดการเปรียบเทียบและผลักดันให้สถาบันการศึกษาไทยต้องพัฒนาการ จัดการศึกษาที่มีความเป็นสากลที่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับนานาประเทศของไทย ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมในระดับสากล

1.4 ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาลดลง เนื่องจาก สภาพการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกระแสระดับโลกเกิดขึ้นควบคู่กับคลื่น ประชาธิปไตยแผ่ขยายวงกว้างถึงไทย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ส่งเสริมการเพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อีกทั้งสภาพการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนการสอน ทำให้ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม อาจเป็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาจะลดลงในกลุ่มสถาบันการ ศึกษาของรัฐ ส่วนการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาเอกชน ผู้เรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยอาจเข้ารับบริการทางการศึกษาได้ลดลง เนื่องจากค่าเล่าเรียนแพง

1.5 โอกาสรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เมื่อ เปิดเสรีทางการศึกษา จะก่อเกิดการแข่งขันในการจัดการศึกษาทั้งจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่าง ประเทศมากขึ้น หากพิจารณาในแง่บวก การเปิดเสรีทางการศึกษา เป็นการสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เนื่องด้วยสถาบันแต่ละแห่งจะแข่งด้านคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษา คุณภาพการศึกษาจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากการเปิดเสรีทางการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาต่างชาติเข้ามาเปิดการเรียนการสอน จึงเป็นแรงกดดันให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น

2. แนวโน้มด้านลบ

2.1 การเพิ่มช่องว่างด้านคุณภาพในการจัดการศึกษา แม้ว่าสภาพ การแข่งขันทางการศึกษาจะเป็นแรงผลักให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น แต่เนื่องจากทรัพยากรตั้งต้นของแต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถและปริมาณของบุคลากรการศึกษา งบประมาณ เงินทุน เทคโนโลยี สถานที่ ความมีชื่อเสียง ฯลฯ ส่งผลให้โอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษาย่อมแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก หรือสถาบันการศึกษาที่ยังไม่มีความพร้อม/มีทรัพยากรตั้งต้นไม่มาก ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาคุณภาพมากนัก

2.2 การผลิตบัณฑิตเกินความต้องการของตลาด เนื่องจากความ ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีสูงขึ้น และการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ต้องหาเลี้ยงตนเอง มีอิสระในการบริหารและเปิดหลักสูตรเพื่อหาผู้เรียนเข้าเรียนให้ได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบระยะยาวคือ มีบัณฑิตจบเป็นจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สามารถรองรับได้หมด โดยกลุ่มแรงงานระดับอุดมศึกษาที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่จบจากสาขาที่ตลาดแรงงาน ต้องการ จะถูกผลักสู่แรงงานนอกระบบ หรือหาทางออกโดยเรียนต่อระดับสูงขึ้น ซึ่งอาจก่อเกิดภาวะแรงงานระดับปริญญาโทและเอกไม่มีคุณภาพและล้นตลาดตามมา เช่นกัน

2.3 การสอนทักษะการคิดและทักษะทางอารมณ์ยังไม่มีคุณภาพ สภาพ เศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขัน ทำให้การจัดการศึกษามุ่งพัฒนาทางวิชาการเป็นสำคัญ ในขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้เท่าที่ ควร เนื่องจากการเรียนการสอนยังมุ่งสอนให้ผู้เรียนคิดตามสิ่งที่ผู้สอนป้อนความ รู้มากกว่าการคิดสิ่งใหม่ ๆ ประกอบกับครูผู้สอนมีภาระงานมาก จนส่งผลต่อการพัฒนาบุคคลในด้านอื่น เช่น การพัฒนาเชิงสังคม รวมถึงการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีในกิจวัตรประจำวันหรือใช้ในการเรียนการสอนทำให้การปฏิ สัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ลดลง ส่งผลให้ช่องทางการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และทักษะทางสังคมของผู้เรียนลดลงด้วย

2.4การสอนคุณธรรมจริยธรรมยังไม่มีคุณภาพ แนวคิดของทุน นิยมที่มุ่งแข่งขันได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ผู้คนต่างมุ่งแข่งขัน และพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประกอบกับสถาบันการศึกษาจำนวนมากมุ่งพัฒนาความรู้ทางวิชาการ และประเมินผลการเรียนที่ความสามารถทางวิชาการ จนอาจละเลยการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้ การไม่ได้มีผู้สอนที่รู้เชี่ยวชาญด้านการสอนคุณธรรมจริยธรรมโดยตรงหรือมี คุณภาพ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการสอนของวิชาคุณธรรมจริยธรรมได้

2.5 การสอนภาษาต่างประเทศยังไม่มีคุณภาพ ยิ่งก้าวสู่โลกไร้พรมแดนมากขึ้นเท่าใด ผู้มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีนที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกใช้ติดต่อสื่อสาร เจรจาต่อรอง การค้า การศึกษา ฯลฯ ย่อมมีความได้เปรียบ ทั้งในเรื่องการติดต่อสื่อสารและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ การสอนภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศของไทยยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากครูผู้สอนมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูจำนวนมากไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง และมีแนวโน้มว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การพัฒนาการสอนทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแม้ปัจจุบันจะตื่นตัวมากขึ้น แต่ยังไม่ก้าวหน้าไปมากเท่าที่ควร เพราะทรัพยากรด้านบุคลากรสอนภาษาต่างประเทศนี้ขาดแคลนมาก
             ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาไทยมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้พร้อมต่อสภาพโลกาภิวัตน์ได้นั้น จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในเชิงรุกตั้งแต่วันนี้ โดยรัฐควรเน้นการบริหารจัดการในส่วนที่ไทยได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในสถาบันการศึกษา สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษา และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษารอง รับกระแสโลกาภิวัตน์

แหล่งข้อมูลจาก http://www.kriengsak.com/node/77