วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การศึกษาทางเลือก "บนลู่ทางอนาคต"เยาวชนไทย

            การศึกษาทางเลือก "บนลู่ทางอนาคต"เยาวชนไทย

            ภาพรายงานของสื่อมวลชน ที่รัฐบาลใช้แสดงความสำเร็จถึงนโยบาย การปฏิรูปการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ กำลังดำเนินไปอย่างตื่นเต้น มีตัวเลข เป็นรูปธรรม ในขณะที่หากเหลียวมองคุณภาพการศึกษาผ่านตัวเด็กๆ สู่อนาคตและพินิจความคาดหวังของสังคม ยังริบหรี่ไร้ทิศทาง เพราะกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ถูกผลักดันสู่การปฏิบัติผ่านกลไกรัฐ ซึ่งก็คือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยังคับแคบทั้งในเชิงเนื้อหา คุณค่าและวิธีการ แม้ว่าหลายหน่วยงานมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปก็ตาม
            สังคมไทยเฝ้ารอรับฟัง ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ยุทธวิธีที่เป็นรูปธรรม รูปแบบการปฏิบัติที่สอดคล้องทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรี่ยวแรง แต่การรอชื่นชมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งเรื่องวิธีการคิด วิธีการเรียนการสอน จากสถาบัน ยังห่างต่อแนวคิดการปฏิรูป และชุมชนเองก็ตระหนักที่จะเข้าไปมีบทบาทกับกระบวนการเรียนรู้ของลูกหลานนั้นยังน้อย จึงแต่รอการกลับมาอย่างอบอุ่นเห็นค่าของบุตรหลาน แต่ยิ่งรอความหวังยิ่งลางเลือน ความสำเร็จที่ฉายชัดผ่านสื่อมวลชนที่รัฐบาลปัจจุบันกล่าวถึง จึงเป็นเพียงการเสนอข่าวปรับรูปแบบการสอบเข้า Entrance การรับเด็ก การจัดโซน การแจกเทคโนโลยี เท่านั้น
            แต่สิ่งที่ไม่เคยกล่าวถึง สำคัญและต้องลงลึกมองให้เห็น นั่นคือองค์รวมของกระบวนการสร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาของเยาวชนไทย จากรุ่นหนึ่งสู่หนึ่ง ผ่านเรื่องราว กิจกรรมทั้งในชีวิตจริงและจำลองขึ้น ผ่านประวัติศาสตร์ของการดิ้นรนต่อสู้ สังสันทน์ทางวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อแต่ละศาสนา แต่ละชุมชน ซึ่งนี่ก็คือ"การศึกษาเพื่อชีวิต" ทางเลือกของการเรียนรู้ที่สำคัญสัมพันธ์ทั้งตนเอง ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

            สาทร สมพงษ์ ครูธรรมชาติแห่งโรงเรียนใต้ร่มไม้ ริมเทือกเขาบรรทัด อ.ป่าบอน พัทลุง ซึ่งบุกเบิกและนำพาเด็กๆ ในชุมชนต่างๆ โลดแล่นอยู่กับเรื่องราวของผื่นไพร กับนิทานสายน้ำ "สาทร สมพงษ์ " ในค่ำคืนหนึ่ง ได้เผยมุมมอง แนวคิดถึงที่มา คุณค่าและความหมายของการศึกษาทางเลือก ผ่านทีมงานไทยเอ็นจีโอ ว่า "เดี๋ยวนี้ เราเข้าใจว่า "การศึกษาต้องไปโรงเรียน" ดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ไปโรงเรียน หรือเรียนแค่ป.4 ก็เลยรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีการศึกษา ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ผมอยากเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษา ที่ชาวบ้านหรือชุมชน หรือครอบครัว ก็ได้ ที่ไม่ใช่สถาบันรัฐ สามารถจัดการศึกษาเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ก็เลยคิดว่า ปัจจุบันนี้มีชาวบ้านจัดกระบวนการศึกษากันเองเยอะ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศในรูปของกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย งานวิจัยเรื่องการศึกษาทางเลือกของผมจึงแบ่งออกเป็น setting ดังนี้

1.กลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น ป่า ทะเล กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้หญิง เป็นต้น เหล่านี้คือกลุ่มเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมต่างก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่พวกเขา ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตขึ้นมา ดั่งนั้น งานของผมที่ศึกษาและวิจัยการศึกษาทางเลือกภาคใต้ ซึ่งผมได้ เข้าไปศึกษาภูมิหลังขององค์กรต่างๆ ว่ามีกระบวนการเรียนรู้อย่างไร มีวัตถุประสงค์อะไร เนื้อหาแบบไหน กระบวนการหรือรูปแบบของเขาทำอย่างไร ผลลัพธ์ออกมาอย่างไรบ้าง เหล่านี้คือเป้าหมายการลงไปศึกษากระบวนการเรียนรู้ทางเลือกภาคใต้ ครับ
ส่วนความแตกต่างที่ผมค้นพบเปรียบเทียบกับการศึกษาในระบบ ได้ชัดๆ คือ การศึกษาทางเลือกนั้นเป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทัศนคติ พัฒนการคิด การเชื่อ พัฒนาจิตใจ จิตวิญญาณเป็นหลัก แต่การศึกษาสมัยใหม่ เขาจัดอย่างนี้ แบบนี้ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ก็ศึกษาเพียงเพื่ออ่านออกเขียนได้ เพื่อช่วยในการประกอบอาชีพ คือเป้าหมายมันจำเพาะมาก ซึ่งมันหนักแต่เรื่องการเรียนหนังสือ แต่เรื่องการเรียนชีวิต การจัดการชีวิต จัดการสังคม ทรัพยากร นั้นไม่มี อย่าง พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 18 ที่พูดถึงการจัดการศึกษาโดยชุมชน ชาวบ้าน หรือโดยครอบครัว เหล่านี้ ล้วนคิดในกรอบเพื่อจัดการศึกษาในขั้นพื้นฐาน 12 ปี ยังไม่ใช่การพูดถึงการจัดการศึกษาในรูปกิจกรรม ที่ชุมชนจัด ซึ่งกระบวนเหล่านี้คือการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเรากำลังรณรงค์เคลื่อนไหวในเรื่องนี้อยู่ เพื่อให้ พ.ร.บ.ระบุไป ไม่ใช่แค่เรื่องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ใครบ้างและอย่างไร แล้วรัฐคอยให้ทรัพยากรสนับสนุน ซึ่งมาตรา 18 ควรจะครอบคลุมตรงนี้ด้วยนะครับ

2.กลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พ่อครูแม่ครู จัดอบรมให้แก่เด็ก ทั้งเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งหมอกลางบ้าน หมอพื้นบ้าน เรื่องแพทย์สมุนไพร เหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน หรือผู้สนใจเช่นกัน ซึ่งรูปแบบเหล่านี้ก็มีทั่วประเทศ

3. กระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อ คนทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนทำ web ต่างก็ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้กับคนที่เปิดเว็บเข้าไป หรือคนที่จัดรายการวิทยุดีๆ รายการโทรทัศน์ดีๆ เช่น รายการทุ่งแสงตะวัน เหล่านี้ ล้วนเป็นกระบวนการศึกษาทางเลือกทั้งสิ้นครับ

4.การศึกษาในรุปแบบกลุ่มทางศาสนา อย่างเช่น สวนโมกข์ ที่จัดอบรมเรื่องอาณาปณสติ เรื่องศาสนา หรืออย่างชุมชนอโศกที่จัดการศึกษาเรื่องความเป็นมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นการศึกษาทางเลือกเช่นกัน เพราะทำให้เกิดการเรียนรู้จักการดำเนินชีวิต

5.สถาบันนอกระบบรัฐ
เช่น สถาบันสลาตันของอาจารย์วิชัย สำนักแม่ชีเสถียรธรรม มหาลัยเที่ยงคืน วิทยาลัยวันศุกร์ ก็ถือว่าเป็นสถาบันนอกระบบรัฐ ทั้งนั้น เขามีการจัดกระบวนเรียนรู้ให้กับประชาชน ซึ่งมีผลก่อให้เกิดการยกระดับชีวิต จิตใจ เป็นอีกหนึ่งการศึกษาทางเลือก

6.สถาบันที่อิงระบบรัฐ อย่างโรงเรียนต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้เด็กๆ นอกหลักสูตร เช่น พาเด็กๆ ไปเรียนรู้วิถีชาวบ้าน เรียนรู้กับพ่อครูแม่ครู ก็นับได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกเช่นกัน

7.Home school หรือการจัดการศึกษาเองในครอบครัว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก สำหรับเด็กที่ชอบสนุกกับการเรียนอยู่กับบ้าน มากกว่าโรงเรียน ซึ่งก็มีหลายท่านที่ค้นพบแนวทางนี้ จนมาเปิด home school รุ่นแรกๆ อย่างคุณหมอโชติช่วง ซึ่งท่านเคยผ่าน home school แล้วก็ไปเรียนต่อระบบข้างนอกจนจบ แล้วไปต่ออเมริกา ซึ่งก็สามารถเรียนได้ปกติ แต่การเรียนแบบนี้บางเรื่องก็อาจจะได้น้อยกว่า แต่บางเรื่อง ก็เรียนรู้ได้ลึกซึ้งกว่านะครับ

            สำหรับปัญหาการจัดกระบวนการการศึกษาทางเลือกนั้น บางส่วนก็เชื่อว่าขาดงบประมาณอยู่มาก สำหรับการทำการศึกษาทางเลือก แต่บางส่วนก็แจ้งว่า งบประมาณไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาก็จัดของเขาไปได้ ซึ่งปัญหาก็แตกต่างกันออกไป อย่างกรณีเกาะยาว พังงา นะครับ คุณครูในโรงเรียนก็มาจากลูกหลานชาวบ้าน แต่กลับไม่ยอมรับที่จะให้องค์กรชาวบ้านเข้าไปร่วมจัดการศึกษาให้กับเด็ก ไม่เห็นความสำคัญที่จะให้เด็กๆ ไปดูพ่อแม่ลงอวน ลงไซ ลงทะเลอย่างไร เพราะเขาไม่เชื่อมั่นว่า นี่คือการเรียนรู้ นี่คือการศึกษา เพราะการศึกษา คือการมานั่งเรียนเลข เรียนภาษา เรียนวิทยาศาสตร์ นั่นคือการศึกษาของเขา ไม่ใช่เรื่องการไปเรียนเรื่องทะเล การจับปลา การดูแลป่า 

            เพราะบทบาทการศึกษาทางเลือกในอนาคต จำเป็นและสำคัญมาก เนื่องจากคนเดี๋ยวนี้พูดได้เลยว่า ป่วยไข้ เพราะการศึกษามันตอบสนองไม่ได้ ทำให้ป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ ทางสมอง มีแต่ความกังวล ความเครียด ความทุกข์ การหย่าร้าง หรือผิดหวังมากๆ ก็เครียด เด็กหลายคนขลุกอยู่กับเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อมองการศึกษา ทำให้เห็นว่า ไม่รองรับการพัฒนาในทุกๆ ด้านของเด็ก มิติของชีวิตบางมิติ ไม่ได้รับการพัฒนา สมองบางส่วนที่มีหน้าที่ในการเจิรญเติบโต พัฒนาตามวัย แต่ไม่ได้รับการเรียนรู้หรือใช้มัน ทำให้คนในปัจจุบันนี้กระด้างมากขึ้น ในบางเรื่องบางอย่าง ขาดความละเอียดอ่อนในชีวิต ขาดความกลมกล่อม สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ในครอบครัวเองก็คุยในภาษาที่ต่างกันมาก สื่อความหมายกันยากขึ้นเรื่อยๆ ทะเลาะกันในปัญหาที่ง่ายขึ้น สังคมมันสับสนอลหม่านไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มาจาก พื้นฐานการศึกษาที่ไม่เอื้อให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ เป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดปัญหาเชื่อมโยงไปอีกหลายๆ มิติครับ"นายสมพงษ์อธิบาย

 แหล่งข้อมูลจาก  http://www.thaingo.org/story3/news_altEducation_210446.htm

1 ความคิดเห็น: